สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติรายประเภท ที่ผ่านมาได้จัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว รวม ๓ ประเภท ได้แก่ ๑) ประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ๒) ประเภทภูเขา และ ๓) ประเภทน้ำตก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่นำไปใช้ในการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเป็นมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น นำไปใช้ประโยชน์ในการประเมินสถานภาพแหล่งธรรมชาติของตนเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆ การติดตามและตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ โดยใช้ตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถเปรียบเทียบกันได้ และง่ายต่อการติดตามตรวจสอบ และช่วยให้ทราบสาเหตุของผลกระทบ ทั้งจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ เพื่อนำมาพิจารณาและกำหนดเป็นแนวทางมาตรการแก้ไขได้ทันเวลา โดยมีเป้าหมายในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และอยู่ในสภาพที่ไม่เสื่อมโทรม มีระดับของผลกระทบที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ส่งผลให้แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ของท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่ดีมีมาตรฐานตามเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ต่อไป โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย
๑. ปัจจัยชี้วัดแต่ละด้าน รวม ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านองค์ประกอบของระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม (๒) ด้านองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม (๓) ด้านผลผลิตจากการบริการสิ่งแวดล้อมของแหล่ง และ (๔) ด้านการบริหารจัดการ
๒. ระดับเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) ระดับสูงหรือดี คือ ไม่มีผลกระทบหรือมีระดับผลกระทบน้อย (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง ๑.๐๐-๑.๖๖) (๒) ระดับปานกลาง คือ มีระดับผลกระทบปานกลาง (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง ๑.๖๗-๒.๓๓) และ (๓) ระดับต่ำ คือ มีระดับผลกระทบมากหรือรุนแรง (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง ๒.๓๔-๓.๐๐)
การจัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ประเภทภูเขา และประเภทน้ำตก มีชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุม รับรู้ ร่วมตัดสินใจ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำเกณฑ์ฯ มาอย่างต่อเนื่องและได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560
โดย กลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ